งานจิตรกรรม ของ จอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์

ภาพเหมือน

“ลูกสาวของเอ็ดเวิร์ด ดาร์ลีย์ บ็อยท์” (ค.ศ. 1882), พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์, บอสตัน

ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1880 ซาร์เจนต์แสดงภาพเหมือนในนิทรรศการแห่งปารีสอย่างสม่ำเสมอ และมักจะเป็นภาพเขียนเต็มตัวของสตรีเช่นภาพเหมือนของ “มาดามเอดวด พาอิลเยรอง” (Madame Édouard Pailleron) ในปี ค.ศ. 1880 (เขียน “en plein-air” (นอกสถานที่)) และภาพเหมือนของ “มาดามรามง ซูแบร์คาโซ” (Madame Ramón Subercaseaux) ในปี ค.ศ. 1881 งานเขียนของซาร์เจนต์ได้รับวิจารณ์ในทางสรรเสริญมาโดยตลอด[28]

ในบรรดาภาพเขียนชิ้นที่ดีที่สุดต่างๆ ของซาร์เจนต์จะเป็นภาพที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองและบุคลิกของผู้นั่งเป็นแบบ ผู้นิยมงานเขียนของซาร์เจนต์จะกล่าวว่าจะมีก็แต่ดิเอโก เบลัซเกซผู้ซึ่งซาร์เจนต์เองก็ชื่นชมและมีอิทธิพลต่อซาร์เจนต์เท่านั้นที่จะเทียบฝีมือกับซาร์เจนต์ได้ อิทธิพลของปรมาจารย์สเปนจะเห็นได้ชัดในงานเขียนชื่อ “ลูกสาวของเอ็ดเวิร์ด ดาร์ลีย์ บอยท์”, ค.ศ. 1882 ที่ฉากภาพในห้องที่ดูเหมือนจะสะท้อนโดยตรงมาจากภาพ “นางสนองพระโอษฐ์” ของเบลัซเกซ[29] ภาพเหมือนที่เขียนในช่วงแรกเป็นภาพที่แสดงถึงความมั่นใจของซาร์เจนต์พอที่จะใช้วิธีเขียนที่ต่างกันไปแล้วแต่งานต่างๆ ทั้งการใช้การวางท่างที่แปลกออกไปกว่าที่ทำกันตามปกติ หรือใช้แสงที่ทำให้ภาพเด่นขึ้น ภาพเขียนภาพหนึ่งที่ได้รับการแสดงบ่อยที่สุดและเป็นที่เป็นที่ชื่นชอบที่สุดของคริสต์ทศวรรษ 1880 คือภาพ “สตรีกับดอกกุหลาบ” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1882 ซึ่งเป็นภาพเหมือนของชาร์ลอต เบิร์คฮาร์ดท์ ผู้เป็นเพื่อนสนิทและอาจจะมีความสัมพันธ์กันฉันท์คนรักก็เป็นได้[30]

แต่งงานที่ก่อให้เกิดเรื่องเสียงหายมากที่สุดคือ “ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์” (มาดามเวอร์จิเนีย อเมลี อเว็นโย โกโทร) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1884 ที่ปัจจุบันถือกันว่าเป็นงานชิ้นเอกของซาร์เจนต์ และเป็นงานที่ซาร์เจนต์เองก็รักที่สุด (ซาร์เจนต์กล่าวในปี ค.ศ. 1915 ว่า “ผมคิดว่าภาพนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ผมทำ”)[31] แต่เมื่อแสดงที่นิทรรศการในปี ค.ศ. 1884 ในปารีส ก็กลายเป็นภาพที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงที่ทำให้ซาร์เจนต์ถึงกับต้องย้ายไปลอนดอน การทดลองวิธีการเขียนภาพแบบใหม่ครั้งนี้มีผลในทางที่ซาร์เจนต์ก็ไม่คาดคิด[32] มาดามโกโทรมิได้เป็นผู้ว่าจ้างให้เขียน แต่ซาร์เจนต์เป็นผู้มีความต้องการที่จะเขียนและได้ติดตามเพื่อหาโอกาสเขียน ซึ่งต่างจากภาพเขียนอื่นที่ลูกค้าเป็นผู้หาตัวจิตรกร ซาร์เจนต์เขึยนจดหมายถึงเพื่อนที่รู้จักมาดามโกโทรด้วยว่า:

“ผมมีความต้องการอย่างรุนแรงที่จะเขียนภาพของเธอ และมีเหตุผลพอที่จะเชื่อว่าเธอเองก็ต้องการให้ผมเขียน และกำลังรอให้ใครสักคนเสนอความคิดนี้เพื่อเป็นสรรเสริญความงามของเธอ...คุณอาจจะบอกกับเธอว่าผมเป็นผู้มีพรสวรรค์ที่จะทำดังว่า”[33]

ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์” (ค.ศ. 1884)พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตัน, นครนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา

ซาร์เจนต์ใช้เวลาปีหนึ่งจึงเขียนภาพ “ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์” เสร็จ[34] ภาพแรกของมาดามโกโทรเป็นภาพในชุดราตรีคอลึกอันมีชื่อเสียง ผิวขาวงาช้าง และศีรษะเอียงเล็กน้อยเชิงผยอง ครั้งแรกที่เขียนสายเสื้อเป็นแบบที่ตกจากไหล่ซึ่งสร้างความท้าทายและยั่วยวนของภาพเพิ่มขึ้นไปอีก[35] แต่ซาร์เจนต์เปลี่ยนสายเพื่อพยายามลดความไม่พึงพอใจจากผู้ชมที่เกิดขึ้น แต่ก็สายเกินแก้ไปเสียแล้ว หลังจากนั้นแล้วซาร์เจนต์ก็เสียลูกค้าชาวฝรั่งเศสไปหลายคน แม้แต่ซาร์เจนต์เองก็ยอมรับกับเอ็ดมันด์ กอสส์ผู้เป็นเพื่อนในปี ค.ศ. 1885 ถึงผลกระทบกระเทือนว่าทำให้ถึงกับคิดที่จะเลิกเขียนภาพไปเป็นนักดนตรีหรือทำธุรกิจ[36]

จูดิธ โกติเยร์บรรยายปฏิกิริยาของผู้ชมไว้ว่า “จะเป็นภาพของสตรีหรือไม่? หรือไคเมรา หรือภาพยูนิคอร์นที่อยู่บนตราอาร์ม หรือจะเป็นงานตกแต่งแบบตะวันออกที่ห้ารูปทรงของมนุษย์เป็นสิ่งต้องห้าม แต่ก็ยังต้องการที่จะเตือนถึงความเป็นสตรีจนวาดเป็นแบบอาหรับอันหยดย้อยงดงาม? แต่ก็ไม่ใช่สิ่งใดที่กล่าว แต่เป็นภาพอย่างชัดเจนของสตรีสมัยใหม่ที่เขียนอย่างบรรจงโดยจิตรกรผู้เป็นปรมาจารย์ของศิลปะแขนงที่ตนชำนาญ”[37] ก่อนที่จะมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับมาดามเอ็กซ์ในปี ค.ศ. 1884 ซาร์เจนต์เขียนภาพของสตรีผู้มความงามอย่างมีมนตร์ขลังหลายภาพเช่นภาพของโรซินา เฟอร์รารา แห่ง คาปรี และนางแบบสตรีอเมริกันที่อยู่ในสเปนคาร์เมลา แบร์ทาญญา แต่ภาพเหล่านี้ไม่ได้เป็นภาพสำหรับแสดงให้ประชาชนทั่วไปชม ซาร์เจนต์แสดงภาพเหล่านี้อย่างเด่นชัดภาพในห้องเขียนภาพในลอนดอนจนกระทั่งขายให้แก่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันในปี ค.ศ. 1916 สองสามเดือนหลังจากที่เฟอร์ราราเสียชีวิต

ก่อนที่ซาร์เจนต์จะมาถึงอังกฤษ ซาร์เจนต์เริ่มส่งภาพเขียนสำการแสดงที่ราชสถาบันศิลปะที่รวมทั้งภาพเหมือน “ด็อคเตอร์พ็อซซิที่บ้าน” (ค.ศ. 1881) ซึ่งเป็นการเขียนภาพศึกษาสีแดง (essay in red) ที่เป็นภาพเหมือนชายเต็มตัวภาพแรก และภาพที่เขียนแบบธรรมเนียมการเขียนเดิมชื่อ “มิสซิสเฮนรี ไวท์” (ค.ศ. 1883) การได้รับจ้างให้เขียนภาพเหมือนต่อมาเป็นการช่วนให้ซาร์เจนต์ตัดสินใจย้ายไปอังกฤษในปี ค.ศ. 1886 แต่นอกไปจากข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับมาดามเอ็กซ์ในปี ค.ศ. 1884 แล้วก็มีการกล่าวถึงการย้ายไปลอนดอนมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1882 ซาร์เจนต์ได้รับการชักชวนหลายครั้งโดยเพื่อนใหม่นักเขียนนวนิยายเฮนรี เจมส์ ซึ่งทำให้การย้ายไปลอนดอนเป็นที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว[38]

ในระยะแรกนักวิพากษ์ศิลป์ชาวอังกฤษก็ไม่ได้แสดงความกระตือรือร้นกับซาร์เจนต์เท่าใดนัก และกล่าวหาว่าการใช้สีของซาร์เจนต์เป็นการแสดงความ “อวดโอ้แบบฝรั่งเศส” นักวิพากษ์ศิลป์บรรยายเทคนิคการภาพเหมือน “มิสซิสเฮนรี ไวท์” ว่า “แข็ง” และ “แทบจะมีลักษณะเป็นโลหะ” ที่ดูเหมือนจะ “ไม่มีรสนิยมในการแสดงออก หรือ การวางท่า” แต่ด้วยความช่วยเหลือของมิสซิสเฮนรี ไวท์เอง ไม่นานนักซาร์เจนต์ก็มีลูกค้าและนักวิพากษ์ผู้ชื่นชมผลงาน[39] เฮนรี เจมส์เองก็พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่โดยการ “สนับสนุนเท่าที่จะทำได้”[40]

“เลดี้แอ็กนิวแห่งล็อกนอว์” โดยจอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์, ค.ศ. 1893, หอศิลป์แห่งชาติ, สกอตแลนด์

ซาร์เจนต์ใช้เวลาพอประมาณในการเขียนภาพนอกสถานที่ในชนบทอังกฤษเมื่อใดที่ไม่ต้องทำงานในห้องเขียน เมื่อไปเยี่ยมโกลด มอแน ที่ จิแวร์นี ในปี ค.ศ. 1885 ซาร์เจนต์ก็เขียนภาพเหมือนที่มีลักษณะแบบศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ที่สุด ที่เป็นภาพของโมเนท์กำลังนั่งเขียนภาพที่ชายป่ากับเจ้าสาวคนใหม่ไม่ไกลนัก ตามปกติแล้วซาร์เจนต์ก็ไม่ถือว่าเป็นจิตรกรภาพเหมือนเชิงอิมเพรสชันนิสม์ แต่ก็จะใช้เทคนิคของการเขียนแบบอิมเพรสชันนิสม์อย่างมีประสิทธิภาพเช่นภาพ “โกลด มอแนเขียนภาพริมป่า” ที่เป็นการเขียนภาพแบบอิมเพรสชันนิสม์ตามสายตาของซาร์เจนต์ ในคริสต์ทศวรรษ 1880 ซาร์เจนต์เข้าร่วมในการแสดงนิทรรศกรรมภาพเขียนอิมเพรสชันนิสม์ และเริ่มทำการเขียนภาพนอกสถานที่ ตามแบบที่เรียกว่าวิธีเขียนแบบ “เขียนภาพนอกสถานที่” หลังจากเดินทางไปเยี่ยมโมเนท์แล้ว ซาร์เจนต์ก็ซื้อภาพเขียนของโมเนท์สี่ภาพสำหรับเก็บไว้เป็นของตนเองด้วย[41] ซาร์เจนต์พอใจที่จะเขียนภาพเหมือนของเพื่อนพอล เฮลลูที่เขียนภายนอกบ้านโดยมีภรรยาอยู่เคียงข้าง ภายถ่ายที่คล้ายคลึงกับภาพเขียนทำให้สันนิษฐานได้ว่าบางครั้งซาร์เจนต์ก็ใช้ภาพถ่ายในการช่วยจัดองค์ประกอบของภาพ[42] จากการเป็นเพื่อนกับเฮลลูทำให้ซาร์เจนต์ได้พบและเขียนภาพประติมากรคนสำคัญฝรั่งเศสโอกุสต์ รอแด็งในปี ค.ศ. 1884 ซึ่งเป็นภาพเขียนเชิงเศร้าที่คล้ายกับงานเขียนของทอมัส เอคินส์[43] แม้ว่านักวิพากษ์ศิลป์อังกฤษจะจัดซาร์เจนต์ในกลุ่มจิตรกรอิมเพรสชันนิสม์ แต่จิตรกรอิมเพรสชันนิสม์ของฝรั่งเศสไม่เห็นด้วย โมเนท์กล่าวต่อมาว่าซาร์เจนต์ “ไม่ใช่จิตรกรอิมเพรสชันนิสม์ตามคำจำกัดความที่เราวางไว้ เพราะเป็นผู้เขียนตามแนวอิทธิพลของการอลุส-ดูว์ร็องเป็นอันมาก”[44]

ความสำเร็จของซาร์เจนต์ครั้งแรกที่ราชสถาบันศิลปะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1887 เมื่อสร้างความสนใจเป็นอันมากในภาพ “คาร์เนชัน, ลิลลี, ลิลลี, ดอกกุหลาบ” ซึ่งเป็นภาพเขียนขนาดใหญ่ของเด็กหญิงสองคนจุดโคมญี่ปุ่นในส่วนอังกฤษที่บรอดเวย์ในค็อตสวอลด์ หอศิลป์เททซื้อภาพทันที

ในปี ค.ศ. 1887 ถึง ค.ศ. 1888 ซาร์เจนต์เดินทางไปนิวยอร์กและบอสตันเป็นครั้งแรก การไปสหรัฐอเมริกาทำให้ได้รับงานจ้างสำคัญมากว่ายี่สิบชิ้น รวมทั้งภาพเหมือนของอิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์ผู้อุปถัมภ์ศิลปะคนสำคัญของบอสตัน และมิสซิสเอเดรียน อิเซลินภรรยาของนักธุรกิจชาวนิวยอร์กซึ่งเป็นภาพที่เผยให้เห็นบุคลิกของผู้เป็นแบบได้อย่างชัดแจ้ง นอกจากนั้นแล้วซาร์เจนต์ก็ได้รับเกียรติในการเปิดงานแสดงศิลปะเฉพาะของตนเอง ซึ่งก็ได้แสดงภาพเขียน 22 ภาพ[45]

เมื่อกลับมาถึงลอนดอนซาร์เจนต์ก็เริ่มยุ่งกับงานอีกครั้ง วิธีเขียนภาพเมื่อมาถึงช่วงนั้นก็ลงตัวเรียบร้อย ที่เป็นวิธีที่ตามขั้นตอนที่ใช้โดยปรมาจารย์ด้านจิตรกรรมภาพเหมือนที่ทำกันมาก่อนหน้านั้น หลังจากที่ได้รับงานจ้างโดยการเจรจาต่อรองด้วยตนเองมาแล้วซาร์เจนต์ก็จะไปเยี่ยมลูกค้าที่บ้านเพื่อจะดูตำแหน่งที่จะแขวนภาพ และมักจะดูตู้เสื้อผ้าเพื่อจะได้เลือกเครื่องแต่งการที่เหมาะสม ภาพเขียนบางภาพก็เป็นภาพที่เขียนที่บ้านของลูกค้าเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะเขียนในห้องเขียนภาพที่เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์และฉากหลังต่างๆ ให้เลือกเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ[46] ส่วนใหญ่แล้วการนั่งเป็นแบบก็จะทำราวแปดถึงสิบครั้ง แต่ใบหน้าจะทำภายในครั้งเดียว ระหว่างเขียนซาร์เจนต์ก็จะชวนผู้นั่งเป็นแบบสนทนา และบางครั้งเมื่อหยุดก็อาจจะเล่นเปียนโนให้ผู้นั่งเป็นแบบค้าฟังไปด้วย ซาร์เจนต์แทบจะไม่ใช้ดินสอ หรือร่างด้วยสีน้ำมัน แต่จะเขียนด้วยสีน้ำมันโดยตรง[47] และขั้นสุดท้ายซาร์เจนต์ก็จะเลือกกรอบที่เหมาะสมให้

ซาร์เจนต์ไม่มีผู้ช่วยและจะทำทุกอย่างด้วยตนเอง ตั้งแต่การเตรียมผ้าใบที่จะเขียน, จัดการถ่ายภาพ, จัดการส่งภาพให้ลูกค้า และทำเอกสาร แต่ละภาพที่เขียนก็ตกราว $5,000 ต่อภาพหรือ $130,000 ตามค่าเงินปัจจุบัน[48] ลูกค้าชาวอเมริกันบางคนถึงกับเดินทางมาลอนดอนด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองเพื่อมาให้ซาร์เจนต์เขียนภาพ

ซาร์เจนต์เน้นความงามอันมีเสนห์ของอัลมินา เวิร์ทไฮเมอร์ในปี ค.ศ. 1908 โดยแต่งตัวให้เป็น “แบบตุรกี” (Turquerie)

ราวปี ค.ศ. 1890 ซาร์เจนต์เขียนภาพสองภาพเชิงท้าทายเป็นการส่วนตัวเพื่อเป็นภาพสำหรับสร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเอง—ภาพหนึ่งเป็นของดาราเอลเล็น เทอร์รีในบทเลดี้แม็คเบ็ธ และอีกภาพหนึ่งเป็นภาพดาราเต้นรำผู้มีชื่อเสียงของสเปนลาคาร์เมซิตา[49] ซาร์เจนต์ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของราชสถาบันศิลปะ สามปีต่อมาก็ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกเต็มตัว ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1890 ซาร์เจนต์รับงานเขียนภาพเฉลี่ยราวสิบสี่ภาพต่อปี แต่ก็ไม่มีภาพใดที่งดงามเท่ากับภาพ “เลดี้แอ็กนิวแห่งล็อกนอว์”ที่เขียนในปี ค.ศ. 1892 ภาพเขียนของมิสซิสฮิวห์ แฮมเมอร์สลีย์ก็ได้รับการรับรองพอๆ กันสำหรับการแสดงความมีชีวิตชีวาของสตรีผู้เด่นในสังคมลอนดอนในขณะนั้นคนหนึ่งในขณะนั้น ในฐานะจิตรกรภาพเหมือน ซาร์เจนต์เป็นจิตรกรผู้ประสบความสำเร็จอันไม่มีผู้ใดเทียมเท่า ผู้เป็นแบบจะทั้งดูสง่าแต่ในขณะเดียวกันก็มีพลังเชิงลุกลี้ลุกลน เช่น “มิสซิสฮิวห์ แฮมเมอร์สลีย์”ในปี ค.ศ. 1892 โดยปราศจากความเกรงกลัวว่าจะถูกคำครหาซาร์เจนต์กล่าวถึงภาพนี้ว่าเป็น “ภาพแวนไดค์แห่งยุค”[50] แม้ว่าซาร์เจนต์จะเป็นชาวอเมริกันที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ แต่ก็ได้เดินทางกลับไปยังสหรัฐอเมริกาหลายครั้งส่วนใหญ่ก็จากเสียงเรียกร้องให้มาเขียนภาพเหมือน ภาพที่เขียนที่สำคัญๆ ในปัจจุบันเป็นของพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา

ซาร์เจนต์เขียนภาพเหมือนสามภาพของโรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน ภาพที่สอง ”ภาพเหมือนของโรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสันและภรรยา” (ค.ศ. 1885) เป็นภาพที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุด[51] นอกจากนั้นแล้วก็ยังเขียนภาพเหมือนของประธานาธิบดีอีกสองคนธีโอดอร์ รูสเวลต์ และ วูดโรว์ วิลสัน

แอชเชอร์ เวิร์ทไฮเมอร์นักค้าขายศิลปะผู้มีฐานะดีของลอนดอนจ้างให้ซาร์เจนต์เขียนภาพเหมือนราวสิบสองภาพของสมาชิกในครอบครัวซึ่งเป็นจำนวนงานจ้างที่สูงที่สุดจากลูกค้าคนเดียว[52] ภาพเขียนเป็นภาพที่แสดงถึงความคุ้นเคยระหว่างผู้เขียนภาพและผู้เป็นแบบ เวิร์ทไฮเมอร์ยกภาพเขียนเกือบทุกภาพให้แก่หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน[53]

เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1900 ชื่อเสียงของซาร์เจนต์ก็ถึงจุดที่รุ่งเรืองที่สุด นักเขียนการ์ตูนแม็กซ์ เบียร์โบห์มเขียนซาร์เจนต์สิบเจ็ดภาพที่เป็นลักษณะการ์ตูน (caricature) ที่อ้วนพุงพลุ้ย[54][55] ขณะนั้นซาร์เจนต์ผู้ยังอยู่ในวัยสี่สิบปีก็เริ่มเดินทางมากขึ้นและใช้เวลาเขียนภาพเหมือนน้อยลง ภาพเขียน “ภายในในเวนิส” (ค.ศ. 1900) เป็นภาพเหมือนของสมาชิกในครอบครัวเคอร์ติสภายในคฤหาสน์อันโอ่อ่าเป็นภาพที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าเจมส์ แม็คนีลล์ วิสต์เลอร์จะไม่เห็นด้วยกับการใช้ฝีแปรงที่เป็นอิสระ โดยสรุปว่า “เลอะเทอะไปทั้งภาพ”[56] ภาพเหมือนภาพสำคัญภาพสุดท้ายภาพหนึ่งของซาร์เจนต์เป็นภาพลอร์ดริบเบิลส์เดลที่เขียนในปี ค.ศ. 1902 ในเครื่องแต่งกายชุดล่าสัตว์อันสง่างาม ระหว่างปี ค.ศ. 1900 ถึงปี ค.ศ. 1907 ซาร์เจนต์ก็ยังคงเขียนภาพเป็นจำนวนมากที่นอกไปจากภาพสีน้ำมันสิบกว่าภาพแล้ว ก็เป็นวาดลายเส้นเป็นจำนวนร้อยที่ราคาตกราว $400 ต่อภาพ[57]

"คนพายเรือนอนหลับ" ราว ค.ศ. 1904

ในปี ค.ศ. 1907 เมื่ออายุได้ห้าสิบเอ็ดปีซาร์เจนต์ก็ปิดห้องเขียนภาพอย่างเป็นทางการ โดยกล่าวว่า “การเขียนภาพเหมือนก็คงจะสนุกดีถ้าจิตรกรไม่ต้องถูกบังคับให้สนทนากับผู้เป็นแบบขณะที่กำลังเขียนภาพ…การที่ต้องหาทางให้ลูกค้ามีความสุขระหว่างที่นั่งเป็นแบบออกจะเป็นภาระ โดยเฉพาะเมื่อต้องแสดงสีหน้าว่ามีความสุข ทั้งที่บางครั้งก็อาจจะไม่มีความสุขในใจเลย”[58] ในปีเดียวกันซาร์เจนต์ก็เขียนภาพเหมือนตนเองที่ดูเรียบและขึงขังซึ่งเป็นภาพสุดท้ายสำหรับการสะสมภาพเหมือนอันมีชื่อเสียงของหอศิลป์อุฟฟีซีที่ฟลอเรนซ์ในประเทศอิตาลี[59]

แต่ซาร์เจนต์ก็ยังคงมีชื่อเสียง พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก็พยายามเสาะหาและซื้องานที่เขียนโดยซาร์เจนต์ ในปีเดียวกับซาร์เจนต์ปฏิเสธไม่ยอมรับบรรดาศักดิ์อัศวินของสหราชอาณาจักรและตัดสินใจดำรงรักษาสิทธิในการเป็นพลเมืองอเมริกันต่อไป ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1907[60] เป็นต้นไปซาร์เจนต์ก็เลิกเขียนภาพเหมือนเป็นส่วนใหญ่และหันไปเขียนภูมิทัศน์ ซาร์เจนต์เดินทางไปสหรัฐอเมริกาหลายครั้งในช่วงสิบปีสุดท้ายของชีวิต รวมทั้งเมื่อไปพำนักอยู่เป็นเวลาสองปีเต็มระหว่างปี ค.ศ. 1915 ถึงปี ค.ศ. 1917[61]

เมื่อซาร์เจนต์เขียนภาพเหมือนของจอห์น ดี ร็อกกี้เฟลเลอร์เสร็จในปี ค.ศ. 1917 นักวิพากษ์ศิลป์ก็ได้จัดให้ซาร์เจนต์เป็นปรมาจารย์ของจิตรกรรมจากอดีต นักสมัยใหม่นิยมวิจารณ์งานเขียนของซาร์เจนต์อย่างรุนแรงมากกว่านั้นโดยกล่าวว่าเป็นงานที่ไม่มีความสัมพันธ์กับความเป็นจริงของชีวิตแบบอเมริกัน และแนวโน้มของศิลปะที่กำลังก่อตัวขึ้นในขณะนั้นที่รวมทั้งคิวบิสม์ และ อนาคตนิยม[62] ซาร์เจนต์ยอมรับข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างเงียบๆ แต่ไม่ยอมเปลี่ยนทัศนคติในทางลบที่มีต่องงานศิลปะสมัยใหม่ โดยโต้ว่า “อิงเกรส์, ราฟาเอล และ เอล เกรโกคือผู้ที่ผมชื่นชมในขณะนี้ และนี่คือสิ่งที่ผมชอบ”[63] ในปี ค.ศ. 1925 ไม่นานก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต ซาร์เจนต์เขียนภาพสีน้ำมันภาพสุดท้ายของเกรซ เคอร์ซอน มาร์ชิออนเนสแห่งเคดเดิลสทันที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเคอร์ริเออร์ซื้อในปี ค.ศ. 1936[64]

จิตรกรรมสีน้ำ

“เดินยามเช้า” โดยจอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์, งานสะสมส่วนบุคคล

ในชีวิตการเป็นจิตรกรซาร์เจนต์เขียนจิตรกรรมสีน้ำกว่า 2,000 ภาพที่เป็นภาพของตั้งแต่ชนบทอังกฤษไปจนถึงเวนิส, ไทโรล, คอร์ฟู, ตะวันออกกลาง, มอนทานา, เมน และฟลอริดา แม้ในยามที่พักจากการเขียนภาพเหมือนในห้องเขียนภาพ ซาร์เจนต์ก็ยังคงเขียนภาพตั้งแต่เช้ายันค่ำ

จิตรกรรมสีน้ำเป็นจำนวนร้อยของเวนิสเป็นงานที่น่าสนใจโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นงานที่เขียนจากมุมมองจากกอนโดลา สีที่ใช้บางครั้งก็จะเป็นสีที่เด่นสะดุดตา ที่ผู้ชมคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า “ทุกอย่างในภาพเขียนด้วยความแรงกล้าของความฝัน”[65] ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือซาร์เจนต์เขียนภาพเบดูอิน, ฝูงแพะ และคนหาปลา ในระยะสิบปีสุดท้ายของชีวิตซาร์เจนต์เขียนจิตรกรรมสีน้ำหลายภาพของพืช, ดอกไม้ และชาวอเมริกันอินเดียนในเมน, ฟลอริดา และทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา

การใช้สีน้ำทำให้ซาร์เจนต์สามารถฟื้นฟูความสนใจทางศิลปะที่สนใจมาก่อนในสมัยที่เริ่มเป็นจิตรกรที่เกี่ยวกับธรรมชาติ, สถาปัตยกรรม, ผู้คนที่น่าสนใจ และภูมิทัศน์ของภูเขา งานเขียนในบั้นปลายจึงเป็นงานเขียนที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นงานที่ซาร์เจนต์เขียนขึ้นเพื่อตนเอง งานสีน้ำของซาร์เจนต์เป็นงานที่เขียนด้วยความเรียบลื่น นอกจากนั้นแล้วซาร์เจนต์ก็ยังเขียนภาพของครอบครัว, เพื่อน, สวน และน้ำพุ ซาร์เจนต์ใช้สีน้ำในการเขียนภาพของเพื่อนและครอบครัวแต่งตัวแบบตะวันออก พักผ่อนท่ามกลางภูมิทัศน์ที่สว่างที่ทำให้ได้ใช้สีอันสดใส และการเขียนแบบทดลองมากกว่าที่จะทำได้กับการเขียนภาพเหมือนที่เป็นงานจ้าง[66] งานแสดงจิตรกรรมสีน้ำเฉพาะของตนเองของซาร์เจนต์จัดขึ้นที่หอศิลป์คาร์แฟ็กซ์ในกรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1905.[67] ในปี ค.ศ. 1909 ซาร์เจนต์แสดงจิตรกรรมสีน้ำแปดสิบหกภาพในนครนิวยอร์ก ที่พิพิธภัณฑ์บรุคลินซี้อไปแปดสิบสามภาพ[68] อีแวน ชาร์เตอริสเขียนในปี ค.ศ. 1927 ว่า:

แม้ว่างานสีน้ำของซาร์เจนต์จะไม่อยู่ในระดับเดียวกับงานเขียนของวินสโลว์ โฮเมอร์ผู้ที่อาจจะถือกันว่าเป็นปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของจิตรกรรมสีน้ำของอเมริกา แต่ก็ยังเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านต่างๆ ในเทคนิคการใช้สีน้ำที่รวมทั้งวิธีที่โฮเมอร์ใช้ด้วย[69]

งานอื่นๆ

เพื่อสนองความต้องการของภาพเหมือนของลูกค้าผู้มีฐานะมั่งคั่ง ซาร์เจนต์ก็ใช้การร่างด้วยถ่านอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนร้อยที่ซาร์เจนต์เองเรียกว่า “Mugs” ในปี ค.ศ. 1916 ราชสมาคมจิตรกรภาพเหมือนก็ได้จัดแสดงภาพที่เขียนด้วยวิธีนี้ระหว่างปี ค.ศ. 1890 ถึงปี ค.ศ. 1916 [70]

งานชิ้นใหญ่โตของซาร์เจนต์เป็นงานตกแต่งฝาผนังที่ห้อสมุดสาธารณะแห่งบอสตันที่เป็นภาพประวัติของศาสนาและพระเจ้าของพหุเทวนิยม (polytheism)[71] โดยใช้วิธี “marouflage” ติดบนผนัง

เมื่อกลับมายังอังกฤษในปี ค.ศ. 1918 จากการไปพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซาร์เจนต์ก็ได้รับจ้างให้เป็นจิตรกรเขียนภาพสงครามโดยกระทรวงข่าวสารข้อมูลแห่งสหราชอาณาจักร (British Ministry of Information) ซาร์เจนต์เขียภาพขนาดใหญ่ให้แก่กระทรวงชื่อ “ถูกรมแก๊ส” และภาพสีน้ำอีกหลายภาพที่เป็นภาพของมหาสงคราม[72]

แหล่งที่มา

WikiPedia: จอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์ http://www.abbeville.com/bookpage.asp?isbn=0789203... http://www.eeweems.com/sargent/ http://www.tfaoi.com/aa/1aa/1aa418.htm http://contentdm.byu.edu/cdm4/item_viewer.php?CISO... http://www.artmuseums.harvard.edu/sargent/ http://www.aaa.si.edu/collectionsonline/sargjohn/ http://data.bls.gov/cgi-bin/cpicalc.pl http://www.sargentmurals.bpl.org http://www.sargentmurals.bpl.org/ http://collections.currier.org/Obj13$170